เสด็จในกรมฯ ได้ทรงวางรากฐาน ในอันที่จะสร้าง นายทหารเรือไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก ดังจะเห็นได้จาก บันทึกความประสงค์ การตั้งโรงเรียนนายเรือ ของ นายพลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ ทูลเกล้าฯ ถวายนายพลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้า อัษฎางค์เดชาวุธ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ผู้สำเร็จราชการ กรมทหารเรือ เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๗ ว่า “… ต่อมาเมื่อปี ๒๔๔๘ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพร เขตรอุดมศักดิ์ ได้เสด็จดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษา ทหารเรือ อีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อจัดการ โรงเรียน ได้ทรงเพิ่ม วิชาสามัญชั้นสูงขึ้น กับมีวิทยาศาสตร์ เพิ่มเติมบ้าง ส่วนวิชาการเดินเรือนั้น ก็ทรงให้คงอยู่ ตามความประสงค์เดิม แต่ขยายหลักสูตร กว้างขวางออกไป ทั้งทรงตั้ง โรงเรียน นายช่างกล ขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย…”
ตามบันทึกนี้ จะเห็นได้ว่า เสด็จในกรมฯ ทรงปรับปรุง การศึกษาของ โรงเรียนนายเรือ ให้เจริญและดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสด็จในกรมฯ ได้ทรงตั้ง โรงเรียน นายช่างกลขึ้น เป็นครั้งแรก เพราะทรงเห็นว่า เมื่อมี โรงเรียนนายเรือ ขึ้นมาแล้ว ก็สมควรจะมี โรงเรียนนายช่างกล ซึ่งเป็นของคู่กันอยู่ด้วย เสด็จในกรมฯ ได้รับผู้สมัคร ที่จะเรียนทางช่างกล จากนักเรียนนายเรือนั่น และปรากฏว่า มีนักเรียนมาสมัครเรียน ทางช่างกลกันมาก พอกับความต้องการทีเดียว
วิชาสำหรับนักเรียนช่างกล ที่ศึกษานี้ บางวิชาก็เรียนรวมกัน กับนักเรียนนายเรือ และบางวิชา ก็แยกไปศึกษาโดยเฉพาะ ส่วนระเบียบการปกครอง ก็เป็นไปแบบเดียวกับ นักเรียนนายเรือ
เมื่อมีโรงเรียนเพิ่มขึ้น เป็นสองโรงเรียน ทางราชการจึงได้รวมการบังคับบัญชา โรงเรียนทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน และตั้งเป็นกองบังคับการขึ้นใหม่ เรียกว่า “กองโรงเรียนนายเรือ” คำว่า “กองโรงเรียนนายเรือ” จึงปรากฏใน ทำเนียบทหารเรือ ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา และเพื่อขยายกิจการ ของโรงเรียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีก ได้ทรงดำเนินการ จัดซื้อที่ดิน ด้านหลังของโรงเรียนนายเรือ ในขณะนั้น จนจรดคลอง วัดอรุณราชวราราม (เว้นทางหลวง) ทรงสร้างโรงงานช่างกล สำหรับฝึกหัด นักเรียนช่างกล และได้สร้างโรงอาหาร สำหรับนักเรียนนายเรือ ต่อกันไปจากโรงงาน บริเวณนอกจากนั้น ให้ทำเป็นสนาม ซึ่งต่อมาพื้นที่บริเวณ สนามด้านหน้าวัด โมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) ก็ได้จัดสร้าง เป็นโรงเรียนจ่าขึ้น จึงทำให้บริเวณกว้างขวางขึ้นอีกมาก
อนึ่ง เสด็จในกรมฯ ทรงเห็นว่า ควรจะได้ฝึกหัดให้ ทหารเรือไทยเดินเรือทะเล ได้อย่างชาวต่างประเทศ เพราะในสมัยนั้น คนไทยยังต้องจ้าง ชาวต่างประเทศ มาเป็นผู้บังคับการเรือ เป็นส่วนมาก สำหรับคนไทยที่มีความสามารถ เดินเรือทะเลบริเวณ อ่าวไทยได้ ก็มีแต่พวกอาสา จากบางคนที่อาศัยความชำนาญ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวด้วย หลักวิชาเลย ดังนั้นเสด็จในกรมฯ จึงได้ทรงริเริ่มที่จะ ทำการฝึกหัด และสั่งสอนนายทหารเรือ ให้มีความรู้ความชำนาญ ในการเดินเรือทะเล มากยิ่งขึ้น ซึ่งนับได้ว่า เป็นพระดำริที่ดี และสำคัญอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง ในทางการทหารเรือ ของราชนาวีไทย และทางกองเรือ ก็ได้ยึดถือแบบฉบับ อันดีงามนี้ ดำเนินการต่อมา จนตราบเท่าทุกวันนี้
สำหรับวิธีการขั้นแรก ที่เกี่ยวกับการผลิต นายทหารเรือชุดแรก ออกไปรับราชการนั้น เสด็จในกรมฯ ได้ให้นักเรียนชั้นสูง ซึ่งบางคนมีอายุตั้ง ๓๐ ปี สอบไล่เพื่อออกเป็น นายทหารชุดหนึ่งก่อน ส่วนที่ยังคงเหลืออยู่ ให้ยุบลงไปเรียนชั้นเตรียมหมด และประทานโอกาสไว้ว่า ผู้ที่สอบไล่ได้แล้ว จะออกเป็นนายทหารก็ได้ หรือต้องการจะกลับเข้ามา เป็นนักเรียนใหม่อีกก็ได้ โดยเสด็จในกรมฯ ได้ทรงวางหลักสูตร การเรียนของนักเรียนทุกชั้น ขึ้นใหม่หมด เพราะหลักสูตรเดิมยังอ่อน และยังใช้การทางทะเลไม่ได้ โดยเสด็จในกรมฯ ได้ทรงเพิ่มวิชาต่างๆ เข้าไปไว้ในหลักสูตรอีกมาก เช่นวิชาตรีโกณเมตริ แอลยิบร่า ยีโอเมตรี การเรือ ดาราศาสตร์ แผนที่ ภาษาอังกฤษ ช่างกล และอื่นๆ ที่ทรงเห็นว่า สำคัญ อีกหลายวิชา พระองค์ได้ทรงจัดหลักสูตรใหม่ ดังนี้
๑. แบ่งนักเรียนออกเป็น ๔ ชั้น
๒. แบ่งภาคเรียนออกเป็น ๔ ภาค ภาคละ ๓ เดือน
สำหรับวิชาภาคต่างๆ เช่น วิชาดาราศาสตร์ เดินเรือ แผนที่ ตรีโกณโนเมตรีเส้นโค้ง พีชคณิตตอนกลาง และตอนปลาย เสด็จในกรมฯ ก็ทรงสอนเองโดยตลอด ในการจัดหลักสูตรใหม่ครั้งนี้ ปรากฏว่า พลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ซึ่งสอบไล่ได้แล้ว แต่สมัครใจที่จะกลับเข้ามาเรียน หลักสูตรใหม่นี้เพียงคนเดียว จึงได้มีโอกาสเรียน กับพระองค์ตัวต่อตัว โดยใช้เวลาเพียง ๑ ปี จบหลักสูตรใหม่นี้
ในเรื่องการปกครองนั้น เสด็จในกรมฯ ทรงใช้ระเบียบวิธีการปกครองตามแบบในเรือรบ โดยแบ่งออกเป็น ๘ ตอน คือ
ตอน ๑ เรียกว่า หัวเรือขวา
ตอน ๒ เรียกว่า หัวเรือซ้าย
ตอน ๓ เรียกว่า เสาหน้าขวา
ตอน ๔ เรียกว่า เสาหน้าซ้าย
ตอน ๕ เรียกว่า เสาหลังขวา
ตอน ๖ เรียกว่า เสาหลังซ้าย
ตอน ๗ เรียกว่า ท้ายเรือขวา
ตอน ๘ เรียกว่า ท้ายเรือซ้าย
และถือเอาเรือใบสามเสา เป็นเกณฑ์ ส่วนช่างกลแบ่งออกเป็น ๒ ตอนนั้น คือ ตอน ๑ ตอน ๒ เรียกว่า ช่างกลกราบขวา และช่างกลกราบซ้าย ส่วนการบังคับบัญชานั้น ให้นักเรียนชั้นสูง บังคับบัญชานักเรียนชั้นรองๆ ลงมา เพื่อเป็นการฝึกหัดปกครอง ไปในตัวโดยมีหัวหน้ากัปตันตอน ซึ่งได้รับเงินเพิ่มจากปกติเดือนละ ๒๐ บาท และกัปตันตอนได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ ๑๗ บาท นอกจากนี้เสด็จในกรมฯ ได้ให้กรมยุทธโยธาทหารเรือ สร้างเสาธงขึ้นหนึ่งเสาตามแบบ ในเรือทูลกระหม่อมมีพรวน ๗ ชั้น พร้อมด้วย เครื่องประกอบและ เชือก เสา เพลา ใบ แล้วทรงหัดให้นักเรียนขึ้นเสา และประจำพรวน กางใบ ม้วนใบลดพรวนลงดิน เอาพรวนเข้าติดที่ ถอดเสาท่อนบนลง เอาเสาท่อนบนขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และลำบากมากเสด็จในกรมฯ ทรงเอาพระทัยใส่ต่อวิชาเรียนแผนกนี้ อย่างจริงจัง เพราะกว่าจะเลิกฝึก ก็เป็นเวลาราวๆ ๑๙.๐๐ ทุกวันไป และเสด็จในกรมฯ ได้ทรงจัดให้มี เรือกรรเชียงไว้ฝึกหัดตี และแล่นใบด้วย ทั้งทรงให้มีกองแผนที่ทะเล และให้พิมพ์แบบเชือกขึ้นไว้ เพื่อเป็นตัวอย่าง ในการเรียนผูกเชือก แบบต่างๆ อีกด้วย
ในทางด้านการกีฬา เสด็จในกรมฯ ได้ทรงขอครูมาจาก กระทรวงธรรมการ เพื่อมาสอนบาร์คู่ บาร์เดี่ยวและห่วง เพื่อให้นักเรียนฝึกหัด จนได้ผลเป็นอย่างดียิ่ง เพราะปรากฏว่า นักเรียนมีสุขภาพดี และแข็งแรงขึ้นเป็นอันมาก และทุกวันพฤหัสบดี ตอนบ่ายทุกคนต้องทำความสะอาดเรียบร้อยทุกอย่าง เช่น เตียงนอนเครื่องสนาม หม้อข้าว หีบเสื้อผ้าตลอดจนเล็บ ฟัน เป็นต้น |